โควิด-19 ก็ระบาดหนัก แต่ด้วยปัจจัยหลาย ๆ อย่าง โดยเฉพาะในเรื่องของเศรษฐกิจการท่องเที่ยวที่น่าเป็นห่วง เลยทำให้รัฐบาลกำหนดมาตรการ ‘เปิดประเทศ’ ให้นักท่องเที่ยวเข้ามาแบบไม่ต้องกักตัว แต่นั่นก็ทำให้คนวิตกกังวลกันอยู่ไม่น้อย ว่าสิ่งนี้จะให้ผลด้านบวกกับคนในประเทศจริง ๆ หรือ?
ไทยเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าประเทศแบบไม่ต้องกักตัว ?
ทุกคนรู้ดีว่าในตอนนี้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในไทย ยังคงมีอัตราการแพร่ระบาดที่น่ากังวล แถมล่าสุดยังเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อเดลตาพลัสไวรัสกลายพันธุ์ที่สร้างความหนักใจอยู่ไม่น้อยอีกด้วย แต่ด้วยสถานการณ์หลายอย่างโดยเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจการท่องเที่ยว รัฐบาลจึงได้ออกมาตรการต่าง ๆ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยว แต่มาตรการที่ทำเอาคนเอามือก่ายหน้าผากกันไม่น้อย คงเป็น ‘การเปิดประเทศ’ ให้นักท่องเที่ยวสามารถเข้ามาเที่ยวในไทยได้แบบไม่ต้องกักตัว
โดยเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2564 ที่ผ่านมา ศูนย์ปฏิบัติการมาตรการการเดินทางเข้าออกประเทศและการดูแลคนไทยในต่างประเทศ ได้มีการออกมาประกาศรายชื่อ 46 ประเทศที่มีพื้นเสี่ยงต่ำ อนุญาตให้เดินทางเข้ามาเพื่อเที่ยวในไทยแบบไม่ต้องกักตัว เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 เป็นต้นไป (จนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลง) เพื่อเป็นการกระตุ้นภาคการท่องเที่ยวและภาคธุรกิจของไทย

46 ประเทศไม่ต้องกักตัว เดินทางเข้าท่องเที่ยวในไทย
โดยภายในเอกสารระบุรายชื่อประเทศ/พื้นที่ ที่ออกตามประกาษ ศปก.กต. ลง ณ วันที่ 21 ตุลาคม 2564 จากเดิม 10 ประเทศ เป็น 46 ประเทศ ประกอบไปด้วย
ออสเตรเลีย ออสเตรีย บาห์เรน เบลเยียม ภูฏาน บรูไนดารุสซาลาม บัลแกเรีย กัมพูชา แคนาดา ชิลี
จีน ไซปรัส สาธารณรัฐเช็ก เดนมาร์ก เอสโตเนีย ฟินแลนด์ ฝรั่งเศส เยอรมนี
ญี่ปุ่น ไอร์แลนด์ อิสราเอล อิตาลี ลัตเวีย ลิทัวเนีย กรีซ ฮังการี ไอซ์แลนด์
มาเลเซีย มอลตา เนเธอร์แลนด์ นิวซีแลนด์ นอร์เวย์ โปแลนด์ โปรตุเกส กาตาร์ ซาอุดีอาระเบีย
สิงคโปร์ สโลวีเนีย สาธารณรัฐเกาหลี สเปน สวีเดน สวิตเซอร์แลนด์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา และฮ่องกง
ทำแบบนี้ดีจริง และคุ้มค่าต่อการแพร่ระบาดของโควิด-19 หรือไม่?
ซึ่งแน่นอนว่าเมื่อเกิดการประกาศแบบเป็นทางการออกมา ที่ว่าจะให้ 46 ประเทศ/พื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่ำ สามารถเดินทางเข้าท่องเที่ยวในไทยได้แบบไม่ต้องกักตัว (อาศัยการปฏิบัติตามมาตรการความปลอดภัย) ก็ทำให้เกิดการถกเถียงกันอยู่พอสมควร และแตกออกเป็นหลาย ๆ ความเห็นว่า การเปิดประเทศในครั้งนี้จะช่วยให้เศรษฐกิจท่องเที่ยวในไทยฟื้นคืนกลับมาได้มากน้อยเพียงใด จะฟื้นได้จริง ๆ หรือไม่ และมาตรการดังกล่าวจะคุ้มค่ากับความเสี่ยงจริงหรือ?
โดยความเห็นของประชาชนส่วนใหญ่ ก็เอนเอียงไปในแง่ของความไม่คุ้มค่า เพราะสถานการณ์โควิดในไทย ก็ยังอยู่ในระดับที่มีความเสี่ยง แล้วหากเป็นเช่นนี้หลาย ๆ ประเทศก็คงไม่กล้าเอาตัวเองเข้ามาเสี่ยงกับพื้นที่ที่มีการระบาดหนักอย่างไทยแน่นอน (ใครอยากติดเชื้อโควิด?) ซึ่งนั่นก็ทำให้หลายคนมองว่าการเปิดประเทศคงไม่ใช่เรื่องเวิร์กเท่าไหร่ นอกจากเงาของนักท่องเที่ยวจะมีจำนวนที่น้อยมากแล้ว ยังเหมือนกับการเอาความเสี่ยงเข้ามาให้กับคนไทยมากกว่าเดิมด้วย

อีกทั้งยังมีนโยบายของ 46 ประเทศที่เดินทางเข้ามาในไทยออกมา โดยทั้ง 46 ประเทศมองว่าประเทศไทยเป็น ‘พื้นที่เสี่ยงสูง’ และต้องกักตัวเมื่อเดินทางกลับประเทศของตัวเอง ประเด็นนี้ นิวมีเดีย พีพีทีวี ได้ทำการสำรวจบรรดา 46 ประเทศดังกล่าวที่ได้ออกนโยบายข้างต้นออกมา ตัวอย่าง
ประเทศออสเตรเลีย ที่ในแต่ละปีช่วงเหตุการณ์ปกติมีนักท่องเที่ยวมาไทยราว ๆ 750,000 คน แต่หลังจากมีโควิด-19 เว็บไซต์ Smart Traveller ของออสเตรเลียระบุว่า ‘ไม่ควรมาประเทศไทย’ ตั้งแต่ช่วงเดือนสิงหาคมเป็นต้นมา และยังไม่มีการอัปเดตใด ๆ เพิ่มเติม อีกทั้งเที่ยวบินมาไทยยังมีน้อยมาก และกลับไปแล้วต้องกักตัวต่ออีก 14 วัน แม้จะฉีดวัคซีนครบโดสแล้วก็ตาม
ในส่วนของประเทศแคนาดา ระบุว่าประชาชนที่ต้องการมาไทยจะต้องเข้มงวดกับตัวเองในทุก ๆ ด้าน ทั้งปัญหาเรื่องโควิด-19 และความตึงเครียดทางการเมืองในไทย รวมไปถึงเมื่อกลับถึงแคนาดาแล้วจะต้องตรวจหาเชื้อโควิดและกักตัวเองอย่างน้อย 14 วันเช่นกัน
จากการสำรวจดังกล่าวเห็นได้ชัดว่าหลายประเทศใน 46 ประเทศ ยังมองว่าไทยเป็น ‘พื้นที่เสี่ยงสูง’ ที่เมื่อต้องเดินทางกลับประเทศตัวเองจะต้องมีการตรวจหาเชื้อโควิดและกักตัวอย่างน้อย 14 วันเพื่อติดตามอาการ นั่นจึงเป็นเหตุผลใหญ่ที่ทำให้นักท่องเที่ยวมองว่าการมาเที่ยวแต่ละครั้ง จะต้องกลับไปเพื่อกักตัวต่อ เป็นสิ่งที่คุ้มค่าหรือไม่?
นั่นเป็นประเด็นที่ต้องมีการติดตามต่อไปว่า ทิศทางเศรษฐกิจท่องเที่ยวในไทยและการเปิดประเทศจะออกมาในรูปแบบใด ภาพฝันที่วาดเอาไว้ว่าการท่องเที่ยวไทยจะลืมตาอ้าปากอีกครั้งจะเป็นได้จริงหรือไม่ อย่างไรเราคงต้องมาลุ้นกันต่ออีกที
สำหรับคนไทยเองก็ห้ามการ์ดตกเด็ดขาดทำประกันสุขภาพ สวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง และปฏิบัติตามมาตรการความปลอดภัยอย่างเข้มงวด เพื่อความปลอดภัยในทุก ๆ วัน